Quantcast
Channel: SUBARU – HeadLight Magazine
Viewing all articles
Browse latest Browse all 10

First Impression ทดลองขับ Subaru Forester Minorchange : SUV ที่ซื้อด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์

$
0
0

Gimmick (กิมมิค) เป็นคำนามชนิดจับต้องไม่ได้ ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งของ หรือเทคนิค เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีเป้าหมายในการดึงดูดความสนใจของลูกค้า เพื่อให้ผู้ค้าสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น

กิมมิคที่ถูกออกแบบมาอย่างดี มักจะได้ผลตอบรับที่ยอดเยี่ยม และอาจทำให้สินค้าบางอย่างที่เมื่อเทียบคุณลักษณะแล้วก็ไม่ได้โดดเด่นต่างจากคู่แข่ง ให้กลายมาเป็นสินค้าอันดับ 1 ได้เลยทีเดียว แต่ในทางกลับกัน กิมมิคก็เป็นเหมือนดาบสองคม ที่มักจะส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความแปลกและแตกต่างอย่างตั้งใจนี้มันมีประโยชน์อะไรกับผู้ซื้องั้นหรือ?

เราอาจจะคิดว่า ในวงการยานยนต์ซึ่งสามารถทดสอบได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ เพื่อหาคำตอบในเชิงรูปธรรมได้ สิ่งที่เรียกว่ากิมมิคนั้นไม่น่าจะส่งผลต่อลูกค้าเยอะขนาดนั้น ในความเป็นจริง รถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบหลากหลายจุด กลับสนับสนุนให้ผู้ผลิตใส่ “กิมมิค” อัดแน่นมาเต็มคัน

ท่านเคยได้ยินคำโฆษณารถยนต์ที่บอกว่า “สปอร์ต” ไหมละครับ? ไอ้คำว่าสปอร์ตนี้ มันมีความหมายว่าอะไร? บ่อยครั้ง ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันมาอยู่ในรถธรรมดา รถที่ถูกออกแบบมาเน้นการใช้งานเป็นหลัก แล้วมันมีความสปอร์ตตรงไหนกัน? จนในปัจจุบัน คำว่าสปอร์ต ในการตลาดรถยนต์ กลับกลายเป็น Cliché ที่ทำให้คนดูรู้สึกขบขันเสียมากกว่า

ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าหากนิยามของกิมมิค คือสิ่งที่ใช้ดึงดูดลูกค้าให้หันมาสนใจในตัวสินค้า แล้วอุปกรณ์ ออปชั่นต่าง ๆ ของรถยนต์ 1 คันนั้น ก็นับได้ว่าเป็นการอัดใส่กิมมิคจำนวนมากมาเพื่อดึงดูดให้คนตัดสินใจจับจองเป็นเจ้าของ และถ้าหากจะให้การทำเช่นนั้นได้ผลดี ก็ต้องมีการใช้กิมมิคอื่น ๆ โปรโมทออปชั่นเหล่านี้ให้ผู้คนหันมาสนใจด้วย

นี่เองเป็นสาเหตุที่เมื่อมีคนพูดถึงเกี่ยวกับรถยนต์ในท้องตลาด สิ่งหนึ่งที่ยังไงต้องได้ยิน คือการเปรียบเทียบออปชั่นที่รถคันนั้นมี รถหลายแบรนด์พยายามสร้างความโดดเด่นและแตกต่าง ด้วยการใส่ข้าวของมาให้เหนือกว่าคู่แข่ง และโปรโมทว่ามันคือ Unique Selling Point ของแบรนด์ ในขณะเดียวกัน รถหลายรุ่นที่ผู้คนมองว่า ออปชั่นขาดหายไป ไม่มีเยอะเท่าคู่แข่ง ก็กลายเป็นรถที่ไม่มีความโดดเด่น และตัดออกจากตัวเลือกได้อย่างง่ายดาย

จนบางครั้งก็น่าสงสัยว่า เราลืมกันไปแล้วหรือเปล่า ว่าเวลาที่เราขับรถยนต์นั้น เราไม่ได้ขับโฆษณา ไม่ได้ขับการโปรโมท และไม่ได้ขับตารางสเปคอุปกรณ์มาตรฐาน?

 

ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น นำพาให้เราต้องพูดถึง Subaru Forester รุ่นปรับโฉม Minorchange ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ Subaru Forester เจเนอเรชั่นแรกถูกเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1997 รถรุ่นนี้ก็ถูกเปลี่ยนโฉมรวมทั้งสิ้น 5 เจเนอเรชั่น และถ้าหากถามนิยามของ Forester ว่าเป็นรถอย่างไร สิ่งที่ผู้คนมักจะนึกถึง ก็คงการที่มันเป็นรถ Compact SUV สไตล์ Crossover พื้นฐานจากรถเก๋งที่ใช้ชิ้นส่วนร่วมกับ Subaru Impreza และ Subaru Legacy

ด้วยแนวทางการออกแบบของ Subaru ที่มักจะใช้ชิ้นส่วนซึ่งรองรับการลุยมากกว่ารถ Crossover ทั่ว ๆ ไป จึงทำให้รถรุ่นนี้เป็นเหมือนจุดกึ่งกลางระหว่างรถ SUV ที่ใช้พื้นฐานแบบรถกระบะ Body-on-frame กับรถ Crossover ที่เป็น Softroader ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการลุยอย่างแท้จริง แม้แต่ในโฆษณาช่วงหลังเอง Subaru ก็พยายามที่จะนำเสนอภาพของรถรุ่นนี้ว่าเป็นรถที่สามารถบุกลุยไปได้ทุกที่ แม้ว่าจะไม่มีทาง ไม่เหมือนกับรถ Crossover คู่แข่งรุ่นอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะเน้นการใช้งานบนถนนเพียงอย่างเดียว

 

นอกจากนี้ Subaru Forester ยังมาพร้อมกับแนวคิดทางวิศวกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของ Subaru มาเนิ่นนาน ทั้งการใช้ขุมพลังแบบ Boxer ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Symmetrical All-wheel-drive ซึ่งทำให้รถรุ่นนี้ขึ้นชื่อเรื่องการขับขี่ที่ดี

คำถามคือ ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้น มันมีความจริงอิงอยู่หรือไม่? หรือมันเป็นเพียงแค่กิมมิคที่ Subaru ใช้ขายรถรุ่นนี้เพียงเท่านั้น?

สำหรับรถที่นำเสนอตัวเองว่าเป็นรถสายลุย พาคนขับไปได้ทุกที่ การทดสอบนั้นจะให้ขับขี่อยู่เพียงแค่ในเมืองใหญ่ก็คงจะไม่ได้ เมื่อเราได้รับรถทดสอบ Subaru Forester Minorchange มาสองคัน ประกอบด้วยรุ่นย่อย i-S EyeSight ราคา 1,550,000 บาท และรุ่นตกแต่งพิเศษ i-L EyeSight GT LITE ราคา 1,520,000 บาท เราจึงจัดทริปทดสอบไปยังจังหวัดกาญจนบุรี และไม่ได้ไปเพียงแค่อำเภอเมืองใกล้ ๆ เท่านั้น แต่เราจะเดินทางกันผ่านถนนภูเขาที่มีความคดเคี้ยว ไปข้ามแพเขื่อนศรีนครินทร์ ขึ้นไปพักที่ไร่ภูผาแก้ว ในอำเภอทองผาภูมิ ก่อนที่จะกลับลงมา เหมืองแร่ ดร.ผล กลีบบัว ซึ่งเป็นเหมืองแร่ตะกั่วเก่าที่หมดสัมปทานไปแล้ว ในภายหลังถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว

4 คืน 3 วัน กับการใช้งาน Subaru Forester ในทุกรูปแบบถนน ตั้งแต่ถนนคอนกรีตบนภูเขา ทางโคลนในป่า รวมไปถึงถนนหินของเหมืองแร่เก่า

ราคาอย่างเป็นทางการ Subaru Forester Minorchange

Forester 2.0 i-L EyeSight : 1,450,000 บาท
Forester 2.0 i-S EyeSight : 1,550,000 บาท
Forester 2.0 i-L EyeSight GT LITE : 1,520,000 บาท
Forester 2.0 i-S EyeSight GT : 1,660,000 บาท

มาพร้อมการรับประกันคุณภาพตัวรถ Warranty นาน 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร และ บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง นาน 3 ปี

ความเปลี่ยนแปลงของ Subaru Forester Minorchange มีดังต่อไปนี้

  • ปรับดีไซน์ด้านหน้า
  • เปลี่ยนล้ออัลลอย ขนาด 18 นิ้ว ลายใหม่ (เฉพาะรุ่น 2.0 i-S EyeSight)
  • ปรับจูนช่วงล่างให้มีความนุ่มนวลมากขึ้น และควบคุมได้ง่ายขึ้น
  • มาพร้อมสีภายนอกใหม่ 3 สี ได้แก่
    • สีเงิน Brilliant Bronze Metallic
    • สีเขียว Cascade Green Silica
    • สีเทา Magnetite Grey Metallic
  • ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารแบบ LED
  • ขอเกี่ยวด้านบนบริเวณพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง
  • อัพเกรดระบบความปลอดภัย EyeSight เป็นเวอร์ชั่น 4.0 ทำงานด้วยกล้อง Stereo คู่หน้า ประกอบด้วย
  • ระบบเบรกอัตโนมัติก่อนการชน พร้อมบังคับพวงมาลัยอัตโนมัติ Pre-Collision Braking with Autonomous Emergency Steering (NEW)
  • ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติแบบแปรผัน Adaptive Cruise Control พร้อม Lane Centering Function (NEW)
  • ระบบเตือนเมื่อออกจากเลน พรอมบังคับให้อยู่ในเลน Lane Departure Warning with Lane Departure Prevention (NEW)
  • ระบบเตือนเมื่อขับรถส่าย Lane Sway Warning
  • ระบบถอนคันเร่งก่อนการชน Pre-Collision Throttle Management
  • ระบบเตือนเมื่อการจราจรเคลื่อนที่ Lead Vehicle Start Alert
  • เพิ่มระบบเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง SVRD
  • เพิ่มระบบปรับไฟหน้าสูง- ต่ำอัตโนมัติ HBA
  • เพิ่มระบบตรวจจับผู้ด้วยสารด้านหลัง
  • เพิ่มระบบตรวจจับวัตถุด้านหลัง SRVD
  • ราคาเพิ่มขึ้น 80,000 บาท

ก่อนอื่น สิ่งแรกที่เราต้องหาคำตอบให้ได้เร็วที่สุดคือ การปรับปรุงโฉม Minorchange ของ Subaru Forester นั้น มีความแตกต่างจริง ๆ หรือไม่ และแตกต่างกับรุ่นก่อนปรับโฉมอย่างไร? บางครั้ง การดูแค่ลิสต์ความเปลี่ยนแปลง ก็ไม่สามารถบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในรถที่แท้จริงได้ เนื่องจากการปรับชิ้นส่วนบางจุดอาจจะไม่ถูกรวมลิสต์เข้าไปไว้ด้วย ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้…

โชคดี ที่ในการออกทริปครั้งนี้ นอกเหนือจากรถรุ่น Minorchange สองคันแล้ว เรายังมีรถรุ่นก่อนปรับโฉม รุ่นย่อย i-S มาทดลองขับแบบจับคู่กันตรง ๆ ด้วย ซึ่งทำให้เราสามารถเปรียบเทียบและหาข้อแตกต่างได้อย่างแม่นยำมากขึ้นกว่าถ้าหากจะใช้เพียงความจำอย่างเดียว

มิติตัวถัง / Dimension

ตัวถังยาว 4,625 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร สูง 1,730 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (Front Track) 1,545 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง (Rear Track) 1,550 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถนน ถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground clearance) 220 มิลลิเมตร มุมไต่ 20.2 องศา มุมจาก 25.8 องศา น้ำหนักตัวเปล่า รุ่น 2.0 iS อยู่ที่ 1,538 กิโลกรัม

รูปลักษณ์ภายนอก / Exterior

ราอยากจะกล่าวย้ำว่า ความพึงพอใจเรื่องรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นเรื่องของปัจเจกว่าจะชื่นชอบ หรือไม่ชื่นชอบ ท่านจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

 

ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดของ Forester Minorchange ก็คงอยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก โดยเฉพาะในส่วนของด้านหน้าซึ่งถูกปรับให้ทันสมัยขึ้น มีการปรับชิ้นส่วนของไฟหน้า เปลือกกันชน และตัวกระจังหน้า ก่อนจะปิดท้ายด้วยล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้วของรุ่น i-S ลายใหม่ และตัวเลือกสีตัวถังใหม่ 3 สี การปรับปรุงโฉมครั้งนี้ คุณผู้อ่านจะชอบ หรือไม่ชอบอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจเอาเอง

 

ถ้าหากถามความเห็นของผู้เขียนนั้น การปรับโฉมภายนอก เป็นความพยายามที่ส่งผลได้ดีเลยทีเดียว ทำให้ตัวรถดูมีความล้าหลังน้อยลงมาก แม้ว่าการปรับเปลี่ยนนั้นจะไม่ได้พลิกโฉมให้ดูแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ปัญหาคือ รูปทรงเดิมของ Subaru Forester นั้น ตัวโครงรถถูกออกแบบมาให้มีสัดส่วนและรูปทรงเหมือนกล่อง ซึ่งส่งผลดีต่อการจัดสรรพื้นที่ภายใน และทำให้รถมีความกว้างขวางใน Footprint ที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก ปัญหาคือ รูปทรงเช่นนี้นั้นมักจะถูกมองว่าดูเชยและโบราณ เหมือนกับรถที่เอาใจผู้สูงอายุมากกว่า และการพยายามเล่นเส้นสายของสันกระจกข้างที่ชี้ขึ้นในบริเวณด้านหลัง ก็ดูจะไม่ช่วยสลัดภาพลักษณ์เช่นนี้ออกไปเสียเท่าไหร่

ภายในห้องโดยสาร / Interior

ในส่วนของภายในนั้น ถ้าหาเปรียบเทียบดูกับรถรุ่นก่อนปรับโฉม เราจะพบว่าความแตกต่างนั้นแทบจะไม่มีอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว ถึงกับต้องเล่นเกมส์จับผิดภาพ นี่คือเมื่อเรานำรถสองคันมาจอดเทียบกันโดยตรงนะครับ ในกรณีที่เปรียบเทียบด้วยภาพถ่าย ต้องใช้การสังเกตอย่างละเอียดมากขึ้นกว่านั้นอีก แม้แต่กราฟฟิคของหน้าจอสัมผัส Infotainment ตรงกลาง ก็ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงแม้แต่นิดเดียว และมีการรองรับ Apple Carplay/Android Auto มาตั้งแต่การปรับอุปกรณ์ในช่วงปีที่ผ่านมาแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม มีความเปลี่ยนแปลงที่ตามองไม่เห็นอยู่ สำหรับตัวเบาะผู้โดยสาร โดยวัสดุที่หุ้มเบาะนั้นมีการเปลี่ยนสเป็คจากรุ่นก่อนปรับโฉมเดิม ซึ่งให้สัมผัสที่แตกต่างจริง มีความนุ่มเนียนขึ้นจากเดิมเล็กน้อย นอกจากนี้ ตัวทรงของโฟมที่อยู่ด้านล่างก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งการปรับปรุงนี้ดูเหมือนจะเน้นไปที่การรองรับส่วนของแผ่นหลัง ให้เหมาะสมกับสรีระของคนมากขึ้น เมื่อลองเปรียบเทียบขับรถรุ่นก่อนปรับโฉม กับหลังปรับโฉม พบว่าความเมื่อยล้าของรถรุ่นหลังปรับโฉมนั้นลดลงเล็กน้อย

ฟังดูอาจจะน่าเสียดายที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงภายในห้องโดยสารที่มากนัก แต่เรากลับรู้สึกยินดีที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าภายในของ Subaru Forester แต่เดิมนั้น ก็ไม่ได้มีจุดที่ควรจะปรับปรุงเลยในเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งาน

 

ตำแหน่งของปุ่มควบคุมต่าง ๆ ทั้งบนพวงมาลัย หรือปุ่มควบคุมระบบแอร์ HVAC รวมไปถึงฟังก์ชั่นในหน้าจอ Infotainment ทุกส่วนถูกออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย จนแม้แต่คนที่เพิ่งเคยขับรถรุ่นนี้ครั้งแรก ก็สามารถเรียนรู้และใช้งานได้ในทันที

ปัญหาของภายในนี้ที่หลายคนมักจะวิพากษ์วิจารณ์ คือรูปลักษณ์ที่ดูแล้วมีความโบราณไปเสียหน่อย แม้ว่าจะเทียบกับรถที่เปิดตัวมาเป็นระยะเวลา 5 ปีด้วยกันหลายรุ่น หน้าจอ Infotainment ที่อยู่ตรงกลาง แยกกับหน้าจอข้อมูลระบบการขับขี่และระบบ HVAC ด้านบน รวมไปถึงมาตรวัดที่เป็นแบบเข็ม มีเพียงหน้าจอ TFT กลาง เห็นได้ชัดว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งรุ่นอื่นอย่าง Honda CR-V เจเนอเรชั่นใหม่ หรือแม้แต่ Mazda CX-5 ที่เปิดตัวมาไล่เลี่ยกับ Forester ไม่ต้องไปพูดถึงรถที่ดูแพรวพราวอย่าง Haval H6 นี่อาจจะเป็นภายในที่ดูจืดที่สุดแล้วในบรรดารถ Compact Crossover ในท้องตลาด

ต่อให้เราบอกว่า ภายในนั้นใช้งานได้ง่าย และเหมาะสมลงตัว แต่ด้วยเม็ดเงินที่ต้องจ่าย ประมาณ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป เราก็แอบคิดไม่ได้ว่าถ้าหากภายในมีความหวือหวาและแพรวพราวมากกว่านี้ จะมีความเหมาะสมทำให้ตัวรถน่าสนใจยิ่งขึ้น

รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ

Technical Information & Test Drive

เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง / Engine & Drivetrain

เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบนอน Boxer ขนาด 2.0 ลิตร 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 92.0 × 75.0 มิลลิเมตร ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 196 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Lineartronic CVT ขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD Symmetrical All-Wheel Drive รองรับน้ำมันสูงสุด Gasohol E10

ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ X-MODE สามารถปรับได้ 3 รูปแบบ ได้แก่

Normal
Snow Dirt
Deep Snow Mud

 

สำหรับเรื่องขุมพลังของ Subaru Forester Minorchange นั้น เราก็สามารถยืนยันได้ว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนปรับโฉมแต่อย่างใด ยังคงเป็นแบบ Boxer สูบนอน 2.0 ลิตร ที่สร้างพละกำลัง 156 แรงม้า ส่งกำลังไปยังระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Symmetrical All-Wheel-Drive ผ่านระบบเกียร์ CVT Lineartronic

สิ่งหนึ่งที่หลายคนมักจะตั้งข้อสังเกตคือ พละกำลัง 156 แรงม้าที่ส่งไปยังระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ทำงาน 50/50 ตลอดเวลานั้น ไม่เพียงพอ และถ้าหากมีเพิ่มมากกว่านี้สัก 100 แรงม้า ด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์ Turbocharged มาให้ ก็จะถูกใจสายผู้ขับขี่รถยนต์ อันเป็นฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นที่สุดของ Subaru มากกว่า

ในการทดสอบอัตราเร่งตามมาตรฐานของ Headlightmag ในรุ่นก่อนปรับโฉม Forester ทำตัวเลขเอาไว้ได้ดังนี้

อัตราเร่ง 0-100 km/h ทำได้เฉลี่ย 12.95 วินาที
อัตราเร่ง 80-120 km/h ทำได้เฉลี่ย 8.78 วินาที
Top Speed บนมาตรวัด 200 km/h @ 5,500 rpm
ความเร็ว บนมาตรวัด 100 km/h GPS 97 km/h
ความเร็ว บนมาตรวัด 110 km/h GPS 107 km/h

ถ้าหากวิเคราะห์จากเพียงตัวเลข ก็เห็นว่า สามารถเทียบได้กับแค่ประมาณรถ Eco-Car Phase 1 ที่ใช้เครื่องยนต์ 1.2 ลิตรหายใจธรรมดาเท่านั้น แต่ถ้าหากมีสิ่งใดที่เราอยากจะย้ำภายในรีวิวนี้คือ การขับขี่รถยนต์ เราไม่ได้ขับตารางสเปค สิ่งที่สำคัญกว่าคือเมื่ออยู่บนถนนจริง ในการใช้งานจริง จะเป็นเช่นไร

ถ้าหากถามเช่นนั้น คำตอบที่ได้คือ ขุมพลังของ Subaru Forester นั้นเพียงพอต่อการใช้งานอย่างแน่นอน ถ้าจะให้อธิบายคือ ในการขับใช้งานโดยมีผู้โดยสาร 4 คน บนถนนทางหลวงระหว่างจังหวัด หรือทางขึ้นเขาที่มีเนินชันระดับ 10-15 องศา เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรที่เหมือนกับของ Subaru XV สามารถมอบพละกำลังเมื่อผู้ขับต้องการได้ ไม่ว่าจะจังหวะเร่งแซงรถบนถนนเลนสวน หรือจังหวะเร่งเครื่องขึ้นเขา อย่างไม่มีอันตราย ใช้งานบนถนนลาดยางในประเทศไทยทุกหนแห่งได้อย่างสบาย

ปัญหาคือ ในการทำเช่นนั้น ผู้ขับขี่จะต้องใช้คันเร่งในปริมาณที่อาจจะมากกว่าที่คาดคิดเสียหน่อย และจะต้องใช้คันเร่ง 100% ที่มากกว่าถ้าหากรถมีพละกำลังมากกว่านี้ อาจเพียงแค่ 20 หรือ 30 แรงม้า ซึ่งสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์โดยทั่วไป อาจจะรู้สึกผิดที่ต้องเค้นพละกำลังจากเครื่องยนต์เช่นนี้ และหลายคนอาจจะมองว่า ในมุมของนักทดสอบรถที่ไม่ได้ขับรถของตัวเอง จะยอมรับการทำเรื่องเช่นนี้ได้มากกว่า ซึ่งเราก็ไม่อาจที่จะห้ามความคิดเช่นนี้ได้

 

เรื่องที่เราไม่สามารถจะปฏิเสธได้คือ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในกรณีที่ผู้ขับขี่ใช้งาน Subaru Forester โดยเรียกพละกำลังออกมาสูงสุดตลอดเวลา

ในการทดสอบตามมาตรฐาน Headlightmag วิ่ง 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน รถรุ่นก่อนปรับโฉม ทำตัวเลขเอาไว้ที่ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 15.81 km/l แต่จากการจับอัตราสิ้นเปลืองในการทดสอบทริปนี้ รถรุ่น i-S ที่ใช้ล้อ 18 นิ้วเหมือนกัน กลับทำได้ไม่ถึง 10 km/l โดยสาเหตุหลัก ก็มาจากการที่ เส้นทางการทดสอบนั้นไม่ได้เป็นการวิ่งความเร็วคงที่ตลอดเวลา แต่ต้องมีการใช้กำลังเครื่องยนต์ในการเร่งส่ง ทั้งขึ้นเขาและเร่งแซงอยู่บ่อยครั้ง

นี่เป็นข้อเสียของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่ทำงานตลอดเวลา และไม่มีระบบตัดกำลังเมื่อต้องวิ่งระยะทางไกล และใช้ความเร็วต่อเนื่อง จึงทำให้มีการสูญเสียกำลัง (Parasitic Loss) ในระบบที่มากกว่า

ประเด็นนี้ ก็ส่งผลทำให้เกิดข้อสงสัยถัดมาคือ ในการใช้งานของคนส่วนมาก ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นระบบ Symmetrical All-Wheel-Drive ของ Subaru Forester หรือของรถค่ายอื่นนั้น มีความจำเป็นแล้วหรือไม่? หรือสุดท้าย มันก็เป็นเพียงกิมมิค สำหรับการขายออปชั่นที่ไม่จำเป็นให้แก่คนที่อยากได้ของมากกว่าชาวบ้านเขาเท่านั้น?

คำถามข้อนี้เป็นคำถามที่เราสงสัยมาตั้งแต่รู้ว่า จะได้นำรถ Subaru Forester Minorchange ไปออกทริปจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นสิ่งหนึ่งที่เราตั้งปณิธานว่า จบทริปจะต้องหาคำตอบให้ได้ และเรายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เราสามารถยืนยันได้ว่า เราได้คำตอบแล้วว่าระบบขับเคลื่อน 4 ล้อนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้งานของคนทั่วไปหรือไม่

ถ้าหากการใช้งานทั่วไปของท่าน ขับอยู่บนเพียงถนนดำที่ส่วนมากเป็นทางตรงเพียงอย่างเดียว ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ไม่มีความจำเป็นหรอกครับ และแม้กระทั่งสภาวะที่พื้นอาจจะเปียกลื่น ในการขับขี่ทั่วไปถ้าหากไม่มีอาการที่ล้อลื่นไถลขณะเร่งเครื่อง เพราะแรงยึดเกาะนั้นมากพอ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อก็แทบไม่ได้ทำงานเลยแม้แต่นิดเดียว

อย่างไรก็ดี คนจำนวนมากที่เลือกใช้รถ Subaru มีความต้องการที่มากกว่านั้น

 

ยกตัวอย่างเช่นการขับขี่ไปในพื้นที่ถนนซึ่งเป็นทางดิน และมีแอ่งน้ำที่ทำให้ดินนั้นลื่นเป็นโคลน ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่ดี เช่นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่แบ่งกำลัง 60/40 จะสามารถส่งกำลังสู่พื้น ช่วยให้รถไม่ติดอยู่ในโคลนนั้นได้ ซึ่ง Subaru Forester ก็ตอบโจทย์ได้ดี

หรือการขับขี่ในทางที่เป็นหินขรุขระ ซึ่งก็มีความลื่น และถ้าล้อไม่สามารถยึดเกาะได้ดีพอ ก็จะเกิดการขุดหินนั้นเป็นหลุม จนทำให้รถติดหล่ม ถ้าหากมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ช่วยส่งกำลังไปยังล้อที่ยังไม่ติด โอกาสที่จะเกิดอุปสรรคนั้นก็น้อยลงไป ในทริปทดสอบนี้ เราได้ทำการทดสอบทั้งสองรูปแบบ และ Subaru Forester ก็สามารถลุยไปได้อย่างมั่นใจ ในแบบที่รถขับเคลื่อนล้อหน้าไปไม่ได้

 

คำถามคือ แล้วคนส่วนมากขับขี่รถในเส้นทางเช่นนั้นหรือไม่? บนถนนดำที่การยึดเกาะนั้นดีอยู่แล้ว บางทีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อก็ไม่มีความจำเป็น จริงไหม? เช่นเดียวกันครับ คนที่เลือกใช้รถ Subaru อาจจะมีความต้องการที่มากกว่านั้น

ยกตัวอย่างเช่นในจังหวะการเข้าโค้งแฮร์พินแคบ และไต่เนินชัน ซึ่งเราพบเจอในการทดสอบ ถ้าหากเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้าธรรมดา ผู้ขับขี่จะต้องยกคันเร่งเพื่อไม่ให้หน้ารถนั้นบานออกไป เป็นอาการ Understeer ที่ไม่พึงประสงค์

แต่สำหรับ Subaru Forester ที่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อสามารถส่งกำลังถึงล้อหลังในบางช่วงได้ถึง 50% ในการเข้าโค้งดังกล่าวนั้น ผู้ขับขี่สามารถที่จะเร่งเครื่องเพื่อส่งกำลังไปยังล้อหลัง เมื่อมีแรงมากระทำกับล้อ ท้ายรถก็จะช่วยเลี้ยวกวาดออกบ้างเล็กน้อย มันอาจจะไม่สามารถเลี้ยวได้ดั่งรถแรลลี่ที่มีระบบ Differential หลังช่วยตัดกำลังไปยังล้อด้านใน แต่แค่ความสามารถในการส่งกำลังไปล้อหลังนั้น ก็ช่วยสร้างความแตกต่างในแบบที่รถขับเคลื่อนล้อหน้าไม่สามารถทำได้

ในขณะเดียวกัน ถ้าหากเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง กำลังที่ไปสู่ล้อหลังอย่างเดียวซึ่งทำให้การใช้คันเร่งช่วยเลี้ยวเช่นนี้เป็นผลมากกว่า อาจจะสนุกกว่าในมุมของผู้ชอบขับขี่รถยนต์ แต่รถ C-Segment Crossover ระดับราคาเท่านี้ มีรุ่นไหนที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังไหมละครับ? และบางครั้ง คนทั่วไปที่อยากได้ความปลอดภัย ความมั่นคงก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่า

 

ระบบกันสะเทือน / Suspension

  • ด้านหน้า เป็นแบบอิสระ MacPherson Strut
  • ด้านหลัง เป็นแบบอิสระ Double Wishbone

ระบบห้ามล้อ / Brake

  • ด้านหน้า เป็นจานเบรกแบบมีครีบระบายความร้อน (Ventilated Disc)
  • ด้านหลัง เป็นจานเบรกแบบมีครีบระบายความร้อน (Ventilated Disc)

สิ่งหนึ่งที่เราต้องระบุเอาไว้คือ Subaru Forester Minorchange มีการปรับสปริงด้านหน้าให้แตกต่างจากเดิม แต่ว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ เราสามารถสรุปได้ว่า ส่งผลน้อยมาก และต้องใช้สมาธิในการจับความแตกต่างที่มากพอสมควร

 

การปรับสปริงนี้ เป็นการปรับให้นุ่มขึ้นในจังหวะที่ยุบเล็กน้อย ซึ่งส่งผลให้เมื่อเจอผิวถนนที่เป็นคลื่น หรือขรุขระ แรงที่กระทำขึ้นมาสู่พวงมาลัยนั้นจะสัมผัสได้น้อยลง แต่เมื่อระยะยุบมากขึ้น ตัวสปริงนั้นมีความแข็งเฟิร์มมากกว่าเดิม อย่างไรก็ดี ความแตกต่างทั้งหมดนี้ เราย้ำอีกครั้งว่าเล็กน้อยจนจับความรู้สึกได้ยาก

Subaru Forester Minorchange ทั้งรุ่น i-S ล้อขอบ 18 นิ้ว ที่ใช้ยางขนาด 225/55R18 และรุ่น i-L ล้อขอบ 17 นิ้ว ที่ใช้ยางขนาด 225/60R17 ใช้ยาง Bridgestone Dueler H/T ทั้งคู่

 

สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของรถ Subaru มาโดยตลอด และเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้แฟนคลับยังคงยึดติดอย่างเหนียวแน่นเพราะไม่สามารถหารถราคาจับต้องได้ยี่ห้ออื่น ๆ ที่เหมือนกันมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี คือการติดตั้งเครื่องยนต์ Boxer สูบนอน ที่ช่วยให้จุดศูนย์ถ่วงของตัวรถนั้นต่ำลง และส่งผลทำให้รถ Subaru ถูกมองว่า การขับขี่นั้นเหนือกว่ารถญี่ปุ่นยี่ห้ออื่น ๆ แต่ว่า สรุปแล้วนั่นเป็นกิมมิคอีกอย่าง หรือว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลจริง?

คำตอบนั้นชัดเจนมากว่า เครื่อง Boxer ที่อยู่ต่ำลง ส่งผลต่อการขับขี่ในทางบวกจริง ๆ และเห็นได้ชัดจากเส้นทางที่เราใช้ขึ้นภูเขา ซึ่งมีความคดเคี้ยวอยู่พอสมควร แม้ว่า Subaru Forester จะมี Ground Clearance ถึง 220 มิลลิเมตร สูงกว่ารถ Crossover SUV รุ่นอื่น ๆ แต่ด้วยการวางตำแหน่งเครื่องที่ต่ำนี้ ทำให้เมื่อรถเลี้ยวไปตามโค้ง อาการโยนที่สัมผัสได้จากตำแหน่งคนขับนั้น มีน้อยกว่า หรือเทียบได้กับคู่แข่งที๋ Ground Clearance ไม่สูงเท่า แม้แต่ในรถยกสูงอย่าง Forester ก็สัมผัสถึงความต่างนี้ได้

ด้วย Ground Clearance ที่มากกว่านี้ ทำให้การขับขี่เพื่อลุยในทางขรุขระนั้นสามารถทำได้ง่ายมาก ความเป็นจริงแล้ว ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเป็นเพียงปัจจัยเล็ก ๆ ในการเสริมประสิทธิภาพการลุย ระดับความสูงของช่วงล่าง รวมไปถึงองศาของมุมไต่ และมุมตะแคง กลับส่งผลต่อการลุยมากกว่าความสามารถในการส่งกำลังลงสู่พื้น เพราะต่อให้รถส่งกำลังไปได้ ถ้าหากพื้นรถมีความเตี้ยจนเกิดอาการที่เรียกว่า “เกยตื้น” รถขับเคลื่อน 4 ล้อนั้นก็ไม่มีประโยชน์เสียเท่าไหร่

 

เมื่อกลับมาอยู่บนถนน ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อของ Subaru นั้นมีผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจจะลืมนึกถึงไป ด้วยการวางตำแหน่งเครื่องยนต์ตามแนวยาว ชุดเกียร์อยู่ด้านหลัง และชุดเพลาขับ รวมไปถึงเฟืองท้ายที่รองรับแรงบิดได้ ทำให้การกระจายน้ำหนักของ Subaru Forester นั้น น้ำหนักกดลงไปที่ท้ายมากกว่าคู่แข่งรุ่นอื่น และนั่นส่งผลต่อการขับขี่เป็นอย่างยิ่ง

ประเด็นสำคัญคือสิ่งที่เรียกว่า Lift-off Oversteer หรืออาการที่ด้านท้ายรถซึ่งมีน้ำหนักเบาอยู่แล้วของรถที่เครื่องวางขวาง เมื่อมีการยกคันเร่งก่อนเข้าโค้ง หรือระหว่างเข้าโค้ง น้ำหนักที่เทไปด้านหน้ามากกว่า ส่งผลทำให้ด้านท้ายรถนั้นเบายิ่งขึ้น ด้านท้ายจึงสูญเสียการยึดเกาะได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากจังหวะนั้นมีการหักพวงมาลัยด้วย

Subaru Forester ที่การกระจายน้ำหนักตกไปอยู่ด้านท้ายมากกว่า รวมไปถึงมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำจากเครื่องยนต์ Boxer แทบจะไม่มีอาการ Lift-off Oversteer เกิดขึ้นเลย ถ้าหากผู้ขับขี่ไม่ขับอย่างบ้าดีเดือดอย่างแท้จริง นี่อาจจะส่งผลทำให้ Subaru Forester ให้ความรู้สึกหนักแน่นมั่นคงระหว่างเลี้ยว มากกว่าระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ส่งผลมากที่สุดขณะเติมคันเร่งเสียอีก

นอกจากนี้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ยังช่วยให้ในจังหวะ Deceleration แรงเหวี่ยงของน้ำหนักนั้นไม่รุนแรงเท่าถ้าหากรถขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า ช่วยเสริมความรู้สึกมั่นคงเข้าไปอีกเช่นกัน

ด้วยยาง Bridgestone Dueler H/T และการปรับเซ็ตช่วงล่างที่เอาใจคนทั่วไปเป็นหลัก ซึ่งใช้งานเป็นรถ Crossover ธรรมดา เราไม่สามารถบอกได้ว่า Subaru Forester ขับเหมือนรถสปอร์ต นั่นจะเป็นการพูดเกินความจริงไปมาก แต่ถ้าหากพิจารณาถึงทุกสิ่งแล้ว Subaru Forester ก็ยังคงเป็นรถ Crossover ที่เอาใจผู้ขับขี่มากที่สุดรุ่นหนึ่งในท้องตลาด

ระบบความปลอดภัยและระบบช่วยเหลือการขับขี่ / Safety & Driving Assistance

ถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง
ระบบปลดล็อกประตูอัตโนมัติเมื่อเกิดการชน
เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง
โครงสร้างนิรภัยรูปวงแหวน พร้อมโครงสร้างด้านในแบบเต็ม
โครงสร้างนิรภัย ออกแบบให้เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังสไลด์ลงด้านล่าง
กัชนหน้าพร้อมโครงสร้างรับแรงกระแทก
ระบบป้องกันล้อล็อก ABS
ระบบกระจายแรงเบรก EBD
ระบบเสริมแรงเบรก BA
ระบบกระจายแรงบิดเมื่อเข้าโค้ง ATV
ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว VDC
ระบบความปลอดภัย EyeSight เวอร์ชั่น 4.0 ทำงานด้วยกล้อง Stereo คู่หน้า ประกอบด้วย
ระบบเบรกอัตโนมัติก่อนการชน พร้อมบังคับพวงมาลัยอัตโนมัติ Pre-Collision Braking with Autonomous Emergency Steering (NEW)
ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติแบบแปรผัน Adaptive Cruise Control พร้อม Lane Centering Function (NEW)
ระบบเตือนเมื่อออกจากเลน พรอมบังคับให้อยู่ในเลน Lane Departure Warning with Lane Departure Prevention (NEW)
ระบบเตือนเมื่อขับรถส่าย Lane Sway Warning
ระบบถอนคันเร่งก่อนการชน Pre-Collision Throttle Management
ระบบเตือนเมื่อการจราจรเคลื่อนที่ Lead Vehicle Start Alert
ระบบเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง SVRD
ระบบปรับไฟหน้าสูง- ต่ำอัตโนมัติ HBA (เฉพาะรุ่น 2.0 i-S EyeSight)
ระบบตรวจจับผู้ด้วยสารด้านหลัง
ระบบตรวจจับวัตถุด้านหลัง SRVD (เฉพาะรุ่น 2.0 i-S EyeSight)

 

กระแสอย่างหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการทดสอบรถยนต์ คือการเข้ามาของระบบช่วยเหลือการขับขี่ขั้นสูง Advanced Driver Assistance Systems (ADAS) อันเป็นมิติใหม่ของระบบเสริมความปลอดภัยในรถยนต์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ระบบความปลอดภัยในรถยนต์นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ประกอบด้วย

Passive Safety ซึ่งหมายถึงระบบความปลอดภัยเมื่อเกิดการชน ประกอบด้วย โครงสร้างของรถที่มีความแข็งแรง และระบบช่วยรองรับแรงกระแทกภายในห้องโดยสาร อาทิเช่นการออกแบบไม่ให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ หลบเว้ามุม และมีจุดบุนิ่ม รวมไปถึงระบบที่มีความล้ำยุคมากกว่าอย่างถุงลมนิรภัยตามจุดต่าง ๆ

Active Safety ซึ่งเป็นระบบความปลอดภัยในเชิงป้องกัน เพราะความปลอดภัยขั้นสูงสุดคืออุบัติเหตุที่ไม่เกิดขึ้นเลยต่างหาก ในอดีต ระบบความปลอดภัยเช่นนี้คือการทำให้รถมีความสามารถในการหลบเลี่ยงเหตุต่าง ๆ ได้ ผ่านการควบคุมที่ให้ผู้ขับขี่สามารถหักหลบได้ตามใจสั่ง

ในภายหลัง นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเสริม ระบบ Active Safety ให้มีความล้ำยุคมากขึ้น เนื่องจากความจริงที่ว่า ปฏิกิริยาการตอบสนองของผู้ขับขี่นั้น ไม่มีทางที่จะเร็วเท่าระบบของคอมพิวเตอร์และเซนเซอร์ต่าง ๆ ระบบ ADAS นั้น จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบ Active Safety อยู่ในปัจจุบัน

ในยุคสมัยดั้งเดิม ซึ่งเราหมายถึงย้อนกลับไปเพียงแค่ 10 ปี ความคาดหวังของผู้คนที่ใช้รถส่วนมาก มักอยู่ที่ระบบความปลอดภัย Passive Safety และระบบความปลอดภัยแบบ Active Safety ดั้งเดิมอย่างเช่นการขับขี่ที่ตอบสนองได้ดี ไม่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยด้วยซ้ำ แต่เมื่อระบบ ADAS เข้ามา ความปลอดภัยเชิง Active Safety ก็ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น และสำคัญมากกว่าระบบ Passive Safety ไปแล้ว

Subaru Forester Minorchange มีการอัพเกรดระบบ ADAS ภายใต้ชื่อทางการตลาด Eyesight เป็นเวอร์ชั่น 4.0 อัพเกรดระบบกล้องเป็นแบบ Stereo ที่จับภาพได้กว้างกว่า และละเอียดกว่า ซึ่งนั่นทำให้สามารถเสริมฟังก์ชั่น 3 อย่างที่ในรุ่นก่อนปรับโฉมไม่มีมาให้

ระบบเบรกอัตโนมัติก่อนการชน พร้อมบังคับพวงมาลัยอัตโนมัติ Pre-Collision Braking with Autonomous Emergency Steering
ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติแบบแปรผัน Adaptive Cruise Control พร้อม Lane Centering Function
ระบบเตือนเมื่อออกจากเลน พรอมบังคับให้อยู่ในเลน Lane Departure Warning with Lane Departure Prevention

ถ้าหากพูดถึงราคาจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นมา แล้วดูจากความเปลี่ยนแปลงในจุดต่าง ๆ ก่อนหน้า บางท่านก็อาจจะมองว่าไม่คุ้มค่า แต่เราสามารถยืนยันได้ว่า นอกเหนือจากการขึ้นราคาตามปกติแล้ว การเพิ่มระบบช่วยเหลือการขับขี่เหล่านี้เข้ามา คือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด และทำให้ราคาจำหน่ายที่เพิ่มเข้ามานั้นไม่ได้สูงอย่างที่การดูตัวเลขเพียงอย่างเดียวจะทำให้นึก

 

ระหว่างทริปการทดสอบนี้ ผู้เขียนไม่ได้ทดสอบระบบ Eyesight 4.0 นี้มากขนาดนั้น เพียงแค่ทำการทดสอบให้ทราบว่าระบบ Lane Centering นั้นทำงานและให้ความรู้สึกเช่นไร รวมไปถึงกล้องสามารถจับเส้นถนน หรือรถคันหน้านั้นได้ดีเพียงไร และทดสอบดูว่าระบบ Adaptive Cruise Control นั้นทำงานได้มากน้อยเพียงใด สาเหตุนั้นเป็นเพราะผู้เขียนมีความคุ้นชินกับการขับรถระยะทางไกลมากอยู่แล้ว เรื่องสมาธิในการขับขี่และควบคุมรถจึงไม่ใช่ปัญหา รวมไปถึงการสังเกตเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นบนท้องถนนก็ทำได้ดีพอ ดังนั้น ระยะทางเกือบ 1,000 กิโลเมตรที่ทำการทดสอบ ไม่มีเหตุอันใดเกิดขึ้นเลยที่ทำให้เราต้องทดสอบระบบต่าง ๆ เหล่านี้ในการใช้งานจริง

แต่ว่า ในการขับรถคันนี้กลับมานั้น เราได้ยกรถ Subaru Forester คันหนึ่งให้กับทางทีมงาน ผู้ซึ่งตลอด 4 วันที่ผ่านมานั้นมีความเหนื่อยล้าเกิดขึ้นมาก จากการรายงานพบว่า ระบบความช่วยเหลือการขับขี่นั้น โดยเฉพาะระบบ Adaptive Cruise Control พร้อม Lane Centering ซึ่งสามารถจับได้ทั้งเลนถนน และรถคันหน้า สามารถช่วยเหลือผู้ขับขี่ในการลดความเหนื่อยล้าได้เป็นอย่างมาก

ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็น Autopilot อย่างแท้จริง แต่นั่นเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า เพียงระบบความปลอดภัย ADAS Level 2 ก็ช่วยเหลือผู้ขับขี่ในสภาวะที่เหนือยล้า และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นอย่างแท้จริง

เราสามารถบอกได้ว่า ระบบต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ใช่กิมมิคอีกต่อไป และมันมีประโยชน์ในการใช้งานจริง แม้ว่าผู้ขับขี่รถยนต์จำนวนหนึ่งอาจจะยังมองว่ามันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น

นั่นทำให้การที่ Subaru Forester มีระบบ ADAS ติดตั้งมาให้ครบถ้วน ทั้งในรุ่น i-L และ i-S และเป็นระบบที่สามารถใช้งานได้จริง เป็นเรื่องที่สมควรแล้ว และน่ายินดี และสำหรับคนที่อยากขับรถเองต่อไป ปุ่มปิดระบบต่าง ๆ นั้น ก็ถูกติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่ทำให้ปิดใช้งานได้ง่ายดายมาก ไม่เหมือนกับรถบางรุ่นที่แอบนำเอาไปใส่ไว้ในหน้าจอ จนต้องจอดรถเพื่อที่จะปิดระบบ


สรุป / Conclusion

รถครอบครัวที่เหมาะสำหรับการซื้อด้วยเหตุผล ไม่ต้องเอาอารมณ์มาเกี่ยวข้อง

กิมมิคใช้งานได้จริง ไม่เป็นเพียงแค่ของประดับตารางโบรชัวร์

4 วัน 3 คืน ที่เราได้ใช้ชีวิตอยู่กับ Subaru Forester Minorchange ทำให้เราได้ข้อสรุปที่น่ายินดี และน่าเศร้าใจ

 

ข้อดีของ Subaru Forester นั้นมีอยู่มากมาย ตั้งแต่เมื่อท่านก้าวขึ้นมานั่งบนเบาะผู้ขับขี่ เรื่องการจัดสรรพื้นที่ภายในที่ทำให้มีความกว้างขวางสะดวกสบาย ตำแหน่งการวางปุ่มต่าง ๆ ที่ทำให้ฟังก์ชั่นสามารถใช้งานได้ง่าย หน้าจอ Infotainment ที่เรียบง่ายแต่ใช้งานได้ดี วัสดุภายในตามจุดสัมผัสที่แม้ว่าจะไม่ได้ให้ความรู้สึกหรูหราเหนือชั้น แต่ก็ดูมีความทนไม้ทนมือ

เมื่อลองสตาร์ทเครื่องและรถเคลื่อนที่ไป พละกำลังของเครื่องยนต์นั้น แม้ว่าจะไม่ได้มาก แต่ก็เพียงพอ และการตอบสนองของเกียร์ CVT ก็สามารถช่วยให้อัตราเร่งไม่ได้เชื่องช้าจนไม่สามารถใช้งานจริงได้ และเมื่อมาถึงทางโค้ง การเซ็ตช่วงล่าง พวงมาลัย เบรก รวมไปถึงการวาง Layout รูปแบบงานวิศวกรรมที่แตกต่าง ทั้งหมดผสานรวมให้ Subaru Forester มีการขับขี่ที่ทั้งนุ่มสบาย แต่การบังคับควบคุมก็สามารถเอาใจผู้ที่ชื่นชอบการขับขี่ได้มาก

ระบบความปลอดภัยที่มีการใส่มาให้นั้นก็ครบครัน และสามารถใช้งานได้จริง ติดตั้งมาให้ในทุกรุ่นย่อย

คำถามคือ แล้วราคาจำหน่ายของ Subaru Forester ตั้งแต่ 1,450,000 บาท จนจบที่ 1,660,000 บาทนั้น คุ้มค่าพอที่จะทำให้เลือกจับจองมาเป็นเจ้าของหรือไม่?

นี่คือสิ่งที่ออกจะน่าเศร้าไปเสียหน่อย เพราะในความเป็นจริง ผู้ที่เลือกซื้อรถ มักจะให้ความสำคัญกับ 3 สิ่ง เป็นอันดับต้น ๆ อยู่เสมอ โดยไม่เรียงลำดับ 1. ออปชั่น ลูกเล่นต่าง ๆ 2. รูปลักษณ์หน้าตาที่สวยงาม และ 3. พละกำลังที่จะทำให้ไม่ต้องเค้นเครื่องยนต์มาก

เราอาจจะบอกได้ว่าทั้งสามสิ่งเป็นเพียงแค่กิมมิค แต่กิมมิคคือสิ่งที่ทำให้รถขายได้ และ Subaru Forester ไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งสามได้ดีเท่ากับคู่แข่งอีกต่อไป

 

Subaru Forester แม้จะถูกปรับโฉม Minorchange ให้ดูทันสมัยขึ้น แต่มันยังให้ความรู้สึกเหมือนกับรถที่ถูกเปิดตัวในเจเนอเรชั่นที่ผ่านมา ย้อนกลับไป 1 เจเนอเรชั่น ซึ่งนั่นไม่ผิดหรอกครับ Subaru Forester SK ถูกเปิดตัวมาตั้งแต่ต้นปี 2018 นับได้ว่าผ่านมาเป็นเวลา 5 ปีเข้าไปแล้ว สำหรับวงการยานยนต์ นั่นคือ 1 Product Cycle ของรถที่ทำตลาดทั่วไปหลายรุ่น

ดังนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่เมื่อมาเปรียบเทียบกับคู่แข่งหน้าใหม่อย่างเช่น Haval H6 ที่อัดออปชั่นมาแน่นเต็มคันจนแพรวพราว หรือ Honda CR-V เจเนอเรชั่นที่ 6 ซึ่งเพิ่งถูกเปิดตัวไป และแก้ไขข้อบกพร่องเดิม พร้อมกับใส่ฟังก์ชั่นใหม่ ๆ ที่ตอบสนองเสียเรียกร้องของลูกค้า เช่นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เทอร์โบ และการใส่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่ตอบสนองได้หลากหลายขึ้น นั่นทำให้ Subaru Forester Minorchange ดูไม่มีความโดดเด่นเสียเท่าไหร่

ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าหากหลายคนมองข้าม Subaru Forester Minorchange ไปด้วยเหตุผลว่ามันดูไม่มีอะไรโดดเด่น น่าดึงดูด เพราะในการใช้งานจริง การตอบสนองของรถรุ่นนี้ ในทุกด้าน นี่คือรถที่แม้จะบอกไม่ได้เต็มปากว่าปราศจากกิมมิค แต่มันคือรถที่กิมมิคสามารถใช้งานได้จริง

ถ้าหากขุมพลังของรถรุ่นนี้ ถูกปรับมาเป็นแบบไฮบริดที่ช่วยเสริมแรงบิดในรอบต้นได้ นั่นก็จะแก้ไขปัญหาความน่าสนใจของรถหลัก ๆ ไปได้ และเราคาดหวังว่าเจเนอเรชั่นใหม่ ทาง Subaru Thailand จะนำเครื่องยนต์ที่พละกำลังมากกว่านี้เข้ามา เพื่อยกระดับจากรถที่มีแรงม้า แค่พอใช้ เป็นรถที่มีแรงม้า ในระดับที่ใช้งานได้ดี ไม่ได้ต้องมากถึงขั้นเพิ่มไปอีก 100 แรงม้า แค่ 20 หรือ 30 ตัวก็เพียงพอที่จะสร้างความแตกต่างกับอัตราเร่ง ให้ 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงลดมาในระดับ 10 หรือ 11 วินาที

นั่นจะทำให้เหลือเพียงแค่เรื่องเดียวที่เป็นจุดอ่อน คือดีไซน์ งานออกแบบภายนอก แต่เราไม่อาจคาดหวังให้ Subaru ทำรถที่สวยงามลงตัวจนคนชื่นชมออกมาได้ เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ Subaru ทำได้มาเป็นเวลานานมากแล้ว แต่สำหรับฐานลูกค้า Subaru โดยปกตินั้น ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องเช่นนี้มากเท่ากับลูกค้ารถแบรนด์อื่น เพราะเหตุนี้ เพียงแค่ทำให้รถดูพอใช้ได้ เราคิดว่านั่นก็เพียงพอแล้ว

สิ่งที่เราไม่อยากให้ Subaru แก้ไขจนเสียไป คือความเอาใจใส่ในการใช้งานฟังก์ชั่นต่าง ๆ นั้น ที่แม้จะดูไม่หวือหวา แต่สามารถตอบสนองได้ดีมาก จนผู้ขับขี่อาจจะไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำว่าการใช้งานรถรุ่นนี้ถูกออกแบบมาได้อย่างลงตัวแค่ไหน

เพราะในระยะยาว รถที่ดูไม่มีอะไร แต่ขับแล้วติดใจ มันทำให้ลูกค้ายึดติดเหนียวแน่นได้มากกว่ารถที่ลูกเล่นแพรวพราว แต่พอขับจริงแล้วกลับไม่มีแก่นสารอะไร!


ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

บริษัท TC Subaru (Thailand) จำกัด เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

Burapat Roongluksamesri (BorisJeam)

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ เป็นผลงานของ Puttiphat W. , SANK RITTHIPHON

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
กันยายน 2023

Copyright (c) 2023 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
 September 2023

The post First Impression ทดลองขับ Subaru Forester Minorchange : SUV ที่ซื้อด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ appeared first on HeadLight Magazine.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 10

Latest Images

Pangarap Quotes

Pangarap Quotes

Vimeo 10.7.0 by Vimeo.com, Inc.

Vimeo 10.7.0 by Vimeo.com, Inc.

HANGAD

HANGAD

MAKAKAALAM

MAKAKAALAM

Doodle Jump 3.11.30 by Lima Sky LLC

Doodle Jump 3.11.30 by Lima Sky LLC

Trending Articles


Ang Nobela sa “From Darna to ZsaZsa Zaturnnah: Desire and Fantasy, Essays on...


Lola Bunny para colorear


Dino Rey para colorear


Girasoles para colorear


Dibujos de animales para imprimir


Renos para colorear


Dromedario para colorear


Long Distance Relationship Tagalog Love Quotes


Love Quotes Tagalog


RE: Mutton Pies (mely)





Latest Images

Pangarap Quotes

Pangarap Quotes

Vimeo 10.7.0 by Vimeo.com, Inc.

Vimeo 10.7.0 by Vimeo.com, Inc.

HANGAD

HANGAD

MAKAKAALAM

MAKAKAALAM

Doodle Jump 3.11.30 by Lima Sky LLC

Doodle Jump 3.11.30 by Lima Sky LLC